วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

"กรีนสปอต" ยกเครื่อง 4 ด้านโลจิสติกส์ จับมือเป๊ปซี่-เบียร์ช้างขนส่งทางน้ำ



วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4047
"กรีนสปอต" ยกเครื่อง 4 ด้านโลจิสติกส์ จับมือเป๊ปซี่-เบียร์ช้าง
ขนส่งทางน้ำ
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้หลายบริษัทต้องปรับยอดขายที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบและต้นทุนด้านพลังงาน แม้จะเริ่มปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นหลายบริษัทจึงพยายามหาหนทางปรับลดค่าใช้จ่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ สุวัฒน์ นวลขาว ผู้จัดการฝ่ายขนส่งและคลังสินค้า บริษัท กรีนสปอต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มหลายชนิด ทั้งน้ำส้มตรากรีนสปอต นมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ และนมถั่วเหลืองตราวีซอย และในฐานะกรรมการบริหาร สมาคมไทยโลจิสติกส์และ การผลิต (TLAPS) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการปรับตัวดังกล่าวของบริษัท กรีนสปอต และผู้คนในแวดวงเดียวกันว่า การจะปรับตัวลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าในสภาวะแบบนี้ มีต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ 4 ตัวหลักที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ การขนส่ง การบริหารคลังสินค้า การดูแลจัดเก็บสินค้าคงคลัง และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการงานโลจิสติกส์ จับมือเป๊ปซี่-เบียร์ช้างขนลงเรือการเลือกโหมดการขนส่งจากทาง ถนนมาใช้การขนส่งทางน้ำ เมื่อเทียบกับน้ำมันราคา 30-40 กว่าบาทต่อลิตร การขนส่งทางเรือทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งได้ประมาณ 20% โดยทางกรีนสปอตมีการทดลองขนส่งผ่านทางเรือมา 2 ครั้ง โดยการขนส่งชายฝั่งจากกรุงเทพฯไปโรงงานของกรีนสปอตที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรือมีเครื่องยนต์ในตัวใช้เวลาเดินทาง 48 ช.ม. หรือประมาณ 2 วัน บรรทุกได้ 500 ตัน หรือประมาณ 50 พาลเลตต่อลำต่อเที่ยว แต่การขนส่งทางน้ำมีจุดอ่อน เพราะเรือไม่สามารถขนสินค้าจากต้นทางที่โรงงานลงเรือได้เลย ต้องขนสินค้าจากโรงงานขึ้นรถ จากรถยกลงเรือ และจากเรือต้องยกสินค้าขึ้นรถไปส่งยังโรงงานปลายทาง ทำให้ เสียเวลา เวลานำ (lead time) ในการขนส่งช้าเมื่อเทียบกับรถบรรทุก ดังนั้นจึงต้องเลือกสินค้าที่มีการหมุนเวียนช้า เช่น การขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานไปส่ง ยังอีกโรงงาน หรือสินค้าสำเร็จรูปที่ส่งไปเติมในคลังสินค้า จะไม่เหมาะในการส่งให้ลูกค้าโดยตรง อย่างไรก็ตามเนื่องจากขนาดของเรือบรรทุกได้ 500 ตัน สินค้าของกรีนสปอต มีไม่มากถึง 500 พาลเลต หรือไม่ถึง 500 ตัน จึงได้ประสานความร่วมมือกับทางบริษัท เสริมสุข จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง เพื่อขนส่งให้เต็มลำ ในอนาคตถ้าน้ำมันขึ้นราคาเป็น 30-40 บาท มีความเป็นไปได้สูง ผู้ประกอบการหันมานิยมขนส่งชายฝั่งจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปภาคใต้ แต่ผู้ประกอบการเดินเรือและท่าเรือต้องปรับในเรื่องมาตรฐานในการบริหารจัดการ เช่น 1)เรือต้องมีเพียงพอ 2)เรือต้องมีกำหนดระยะเวลาในการขนส่งตั้งแต่รับสินค้าไปถึงส่งมอบให้ชัดเจน โดยผู้ประกอบการสามารถวางแผน หรือร่วมกันวางแผนได้ จะได้ใช้เรือเต็มประสิทธิภาพ เช่น ปัจจุบันใช้เวลาเดินทางไปภาคใต้ 2 วัน อาจจะเหลือ 1 วันครึ่ง เป็นต้น 3)ปรับปรุงการโหลดด้วยการจัดเตรียมอุปกรณ์ยกขนให้พร้อม เพื่อจะได้รวดเร็วขึ้น และลดขั้นตอน ต้องปรับให้สามารถ ขนส่งด้วยพาลเลตได้ การนำสินค้าใส่ตู้ คอนเทนเนอร์ และลงเรือมีขั้นตอนค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมีข้อจำกัด เพราะสินค้า ที่เป็นพาลเลตไม่สามารถใส่ตู้คอนเทนเนอร์ได้ เพราะติดไม่พอดีกับตู้ ดิ้นบรรทุกเต็มคันการบรรทุกได้เต็มคันรถสามารถประหยัดต้นทุนค่าขนส่งไปได้มาก เริ่มตั้งแต่กรณีที่โรงงานไม่มีรถบรรทุกของตัวเอง และต้องว่าจ้างผู้ประกอบการขนส่งควรจะเลือกผู้ประกอบการที่มีเครือข่าย รับจ้างขนส่งหลายบริษัท เพื่อจะได้บรรทุกเต็มคัน เพราะผู้ประกอบการรถขนส่งจะนำสินค้าของทุกบริษัทไปรวมที่ศูนย์หรือคลังสินค้า หากรถคันใดยังบรรทุกไม่เต็มจะได้นำสินค้าของอีกบริษัทมาใส่ให้เต็มในเส้นทางเดียวกัน เมื่อบรรทุกได้เต็มคัน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน สินค้าของบริษัทส่งมอบได้ตรงเวลา ในขณะที่ผู้ประกอบการรถขนส่งก็ได้บรรทุกสินค้าเต็มคัน รวมถึงกรณีการวิ่งรถเที่ยวกลับ (backhaul) ต้องมีพันธมิตร ยกตัวอย่าง โครงการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำเป็นโครงการนำร่องขึ้นมาจับคู่กลุ่มอุตสาหกรรมทำ backhaul การเปลี่ยนโครงสร้างตัวถังรถบรรทุกจากเหล็กมาเป็นอะลูมิเนียม หรือไฟเบอร์กลาส จะทำให้ น้ำหนักรวมของรถบรรทุกเบาลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการบรรทุกได้ เพราะกฎหมายกำหนดขนาดน้ำหนักบรรทุกไว้ เช่น รถ 10 ล้อบรรทุกได้ 25 ตัน รถเซมิเทรลเลอร์ 18 ล้อได้ 45 ตัน รถ 22 ล้อบรรทุกได้ 50.5 ตัน หรือรถปิกอัพกฎหมายกำหนดบรรทุกไม่เกิน 1 ตัน เมื่อเปลี่ยนโครงตู้เป็นไฟเบอร์กลาส ทำให้มีน้ำหนักเบา สามารถเพิ่มตู้พ่วงได้อีก ตัวรถอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้ สามารถบรรทุกสินค้าได้หลายรูปแบบยกตัวอย่าง จากเดิมบรรทุกสินค้าเป็นรายลัง ต้องใช้แรงงานยกขึ้นลง แต่ถ้าเลือกใช้บรรทุกเป็นพาลเลต ทำให้ลดเวลายกขึ้นลง รถสามารถเพิ่มเที่ยวในการขนส่งได้มากขึ้น ประสานยี่ปั๊วสั่งซื้อ-ส่งมอบการกระจายสินค้าบริษัทที่มีคลังสินค้า และสาขาในหลายจังหวัดจะมีประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าสูง ขณะที่บริษัทที่ไม่มีสาขา หรือ คลังสินค้าในต่างจังหวัดอย่างกรีนสปอต จะใช้วิธีการส่งให้ลูกค้าโดยตรง เป็นตัวแทน เป็นยี่ปั๊วบ้าง เพราะฉะนั้นการกระจายสินค้าต้องปรับวิธีการ ด้วยการหารือกับลูกค้าปลายทางว่า จะทำอย่างไรกรณีลูกค้าซื้อไม่เต็มคันรถโดยจะกำหนดเส้นทางและกำหนดวันส่งสินค้าแน่นอน เช่น มีลูกค้าที่จังหวัดเชียงใหม่ จะไปส่งสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ในแต่ละเที่ยวจะสามารถส่งลูกค้าได้ 3-5 ราย ในเส้นทางเดียวกัน วิธีนี้ลูกค้าได้รับของตรงเวลา เช่น จะส่งทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ไม่ต้องสต๊อกสินค้า เงินก็ไม่จม พื้นที่ก็ไม่เปลือง ผู้รับเหมาขนส่งบรรทุกได้เต็มคัน ขณะเดียวกันลูกค้าต้องปรับวิธีการสั่งซื้อสินค้าให้เป็นวันและเวลาที่แน่นอนด้วย นอกจากนี้ลูกค้าที่เก็บสินค้าเป็นลังอาจจะเจรจาให้เปลี่ยนมาเก็บสินค้าเป็น พาลเลตจะลดแรงงานได้ ลดสินค้าคงคลังจาก 12 เหลือ 9 วันสำหรับคลังสินค้าในปี 2552 บริษัท กรีนสปอตจะนำระบบบริหารจัดการคลังสินค้า PWMS มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการกระจาย และการส่งมอบให้ลูกค้า เรื่องของความแม่นยำ ขณะเดียวกันมีนโยบายจะลดสินค้าคงคลัง เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอในการจัดเก็บ เพราะหากมีสินค้าคงคลังมาก ต้องขยายพื้นที่คลังสินค้าตลอด การลดสินค้าคงคลังต้องมีระบบ การวางแผนความต้องการ การติดตามการขาย จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า sell and operation planing-S&OP เพื่อมาประชุมหารือกันระหว่างฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และหน่วยงานโลจิสติกส์ ฝ่ายจัดซื้อ คลังสินค้า พัสดุ เพื่อจะหารือเรื่องความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงกับความสามารถในการผลิต ในการส่งมอบ ให้เกิดความสมดุล เพื่อที่จะช่วยลดระดับสินค้าคงคลังให้สม่ำเสมอ และประชุมกันทุกวันพุธ โดยตั้งเป้าลดสินค้าคงคลังจาก 12 วันให้เหลือเฉลี่ยต้องไม่เกิน 9 วัน เพราะสินค้าที่เป็น UHT ต้องมีการบ่มหมัก นอกจากนี้มีการจัดสายการขายใหม่ หลายบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับจากการใช้รถเร่ ที่เรียกว่า cash sell คือใช้รถบรรทุก 1 คันตระเวนไป 1 เดือน ในยุคน้ำมันแพง วิธีการดังกล่าวไม่คุ้มต้นทุน จึงเปลี่ยนให้เซลส์วิ่งไปรับคำสั่งซื้ออย่างเดียว บางบริษัทใช้วิธีโทรศัพท์ไปถาม และให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ตอนนี้ต้องลดค่าใช้จ่าย เพราะสินค้าพวกนี้จะขึ้นราคาก็ลำบาก และต้องเปลี่ยนวิธีของการกระจายสินค้า แต่ต้นทุนโลจิสติกส์บ้านเรายังถือว่าสูงอยู่ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ